Hot Topic!

พิษในอาหาร และการปกป้องประชาธิปไตยในจาน

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 25,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ลงมือสู้โกง  โดย : เบ็ญจลักษณ์

 

มื้ออาหารที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านรับประทานอะไรกันบ้างคะและแน่ใจหรือไม่ว่าอาหารเหล่านั้น "สะอาด" และปลอดภัย วัตถุดิบในอาหารเหล่านั้นมาจากไหน และก่อนมาถึงมือท่าน ได้เคยสร้างผลกระทบอะไรไว้บ้าง

 

โดยทั่วไป เราอาจคิดว่าจะพบเจอคอร์รัปชั่นได้ตามท้องถนนที่เป็นหลุมบ่อ ในสำนักงาน ตามข่าวที่ปรากฏในโทรทัศน์ แต่ในจานอาหารของเราเล่า มีคอร์รัปชั่นเจือปนอยู่บ้างหรือไม่

 

ในการเสวนา Puey Talks ครั้งที่ห้าเนื่องในวาระรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตอน ประชาธิปไตยทางอาหาร หลากหลาย ปลอดภัย ยั่งยืน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 ผู้เข้าร่วมงานคนหนึ่งกล่าวประโยคที่ผู้เขียนจำได้ไม่ลืมว่า "ใครคุมอาหารได้ กุมอำนาจได้" ซึ่งอธิบายชื่อการเสวนาได้ทันที ก่อนหน้านี้เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตย ผู้เขียนนึกถึงอำนาจต่อรองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน แต่กลับนึกไม่ถึงว่า การเมืองและประชาธิปไตยจะอยู่ใกล้เพียงช้อนตัก เคี้ยวกลืน บดย่อย ดูดซึม และหล่อเลี้ยงร่างกายของเรานี้

 

แล้วใครเป็นผู้กุมอำนาจ ผู้เขียนได้รับข้อมูลในการตอบคำถามนี้มากขึ้นจากงานเสวนา คอร์รัปชันในภาคเกษตร ภาค 1 : พาราควอต? เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ซึ่งจัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่ชวน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชา สังคมและภาครัฐมาร่วมถกเถียงปมปัญหานี้ เนื่องจาก กำลังมีการดำเนินการพิจารณาระงับการใช้สารเคมีนี้โดยกรรมการวัตถุอันตราย

 

สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคย พาราควอตคือหนึ่งในสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่นักวิชาการและภาคประชาสังคมรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย ชื่อทางการค้าที่อาจคุ้นหูกันมากขึ้น คือ กรัมม็อกโซน กระทรวงสาธารณสุขเองก็เสนอให้พิจารณาจำกัดการใช้ เนื่องจากมีข้อมูลจากหลายแหล่งทั้งในและต่างประเทศ เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่บ่งชี้ว่าเป็นอันตรายรุนแรงต่อมนุษย์และตกค้างในสิ่งแวดล้อม มีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีมาตรการป้องกันการใช้ แต่ตัวเลขการนำเข้ากลับสูงขึ้น โดยในการพิจารณาครั้งนี้ ภาคประชาสังคมก็มีข้อกังวลเรื่องความโปร่งใสในการ ทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหาข้อเท็จจริงในการพิจารณาให้มีการยกเลิกพาราควอต เนื่องจากภาคประชาสังคมอ้างว่าได้รับข้อมูลบ่งชี้ว่ามีกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งยังมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลล่าสุดและมาจากกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนในการพิจารณา

 

จากข้อมูลที่ภาคประชาชนอ้างอิงนั้น พบว่ากลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับบรรษัทข้ามชาติสัญชาติสวิสผู้ผลิตและส่งออกสารเคมีเกษตรรายใหญ่ คือ ซินเจนทา และบริษัทสัญชาติอเมริกัน คือ มอนซานโต โดยสวิตเซอร์แลนด์ห้ามใช้สารเคมีเกษตรนี้ในประเทศ สหรัฐอเมริกาจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด แต่ทั้งสองประเทศอนุญาตให้มีการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งนอกจากอำนาจต่อรองจะต่ำแล้ว ยังมีทรัพยากรในการรับมือผลกระทบที่จะตามมาน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

สารคดีเรื่อง Circle of Poison ที่ผู้เขียนได้ดูเล่าถึงปัญหาวังวนแห่งพิษนี้ว่า ในสหรัฐอเมริกาเคยมีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายระงับการใช้และผลิตสารเคมีอันตรายเพื่อส่งออกในสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ แต่กลับถูกยกเลิกไปเมื่อเข้าสู่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ผู้ชูนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เพราะแพ้เสียงล็อบบี้ยิสต์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผลิตภัณฑ์เกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพยักษ์ใหญ่ เช่น มอนซานโต ไบเออร์ ดูปองท์ บีเอเอสเอฟ และซินเจนทา ซึ่งเมื่อรวมกันบริษัทเหล่านี้ส่งออกสินค้ากว่า 75% ของตลาดโลก จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าบริษัทเหล่านี้จะมีอำนาจควบคุมระบอบการผลิตอาหารทั่วโลก

 

กรณีห้ามหรือจำกัดการใช้ แต่ยังอนุญาตให้เอกชนผลิตเพื่อส่งออกนี้เป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อสุดท้ายสารที่ถูกห้ามใช้ในประเทศ ก็ยังกลับมาถึง ผู้บริโภคผ่านทางผลิตภัณฑ์นำเข้า

 

แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงผู้บริโภคทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ เกษตรกรผู้ผลิตและผู้อาศัยใกล้ชิดกับพื้นที่ทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีอันตรายก็ถูกคุกคามด้านความปลอดภัยในชีวิต คนที่เติบโตมาอย่างแข็งแรงกลับอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว เด็กที่เกิดมาเป็นออทิสติก โรคไต และเสียชีวิตลงในเวลาสั้นๆ ทั้งยังมีการตรวจพบ ว่าทารกในครรภ์มารดาที่ทำการเกษตรหรืออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงมีพาราควอตปนเปื้อนอยู่ในสายสะดือและขี้เทา

 

นอกจากชื่อ เพศ ศาสนา และสิ่งสร้างทางสังคมอื่นๆ ที่จะติดตัวไปเมื่อลืมตาดูโลก เด็กๆ ของเราก็ได้ถูกพันธนาการด้วยตรวนพิษนี้ไปพร้อมกันด้วย พวกเขาถูกลิดรอนประชาธิปไตยตั้งแต่ยังไม่ได้สถานะบุคคลเสียด้วยซ้ำ

 

ด้วยความเสี่ยงต่อการล็อบบี้อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การคอร์รัปชั่นในห่วงโซ่อุปทานอาหารดังที่กล่าวมา อาจสรุปได้ว่าสาเหตุที่สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเพราะปัจจัยสามประการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับ ผู้อำนวยความสะดวก และทัศนคติ ยังไม่ถึงพร้อม

 

นอกจากการทำให้ทางเลือกที่ยั่งยืนเข้าถึงง่ายกว่าสารเคมีอันตรายทั้งในทางกฎหมาย ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ การให้ความรู้เรื่องการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบทั้งต่อมนุษยชาติและทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นอีกภารกิจที่สำคัญยิ่งในการเรียกร้องประชาธิปไตยทางอาหาร ทั้งนี้ เพราะความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหารของมนุษย์เกี่ยวพันกับ สิ่งแวดล้อมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ มนุษย์ไม่อาจดำรง อยู่ได้อย่างยั่งยืนหากทรัพยากรธรรมชาติล่มสลาย มนุษย์ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภควัตถุดิบจากสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ถูกต้อง โดยการเข้าใจว่าตนมีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่นี้อย่างไร

 

ผู้เขียนจึงขอถามผู้อ่านอีกครั้งว่าท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าอาหารมื้อที่ท่านเพิ่งรับประทานไปนั้น "สะอาด" เพียงใด คำว่าสะอาดนี้ไม่ได้หมายถึงปลอดสารพิษเท่านั้น แต่หมายถึงผ่านกระบวนการอันเป็นธรรม ไม่ส่งผลให้ท่านหรือคนอีกซีกโลกป่วยเป็นมะเร็งหรือพาร์กินสัน ไม่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้สิน ไม่ทำให้เกิดหมอกควันหรือภูเขาหัวโล้นในภาคเหนือ ไม่ส่งเสริมการทำประมง ผิดกฎหมาย ไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ไม่กำหนดอนาคตอันเสื่อมโทรมให้ลูกหลาน

 

ท่านมีสิทธิรู้และเลือกหรือไม่ท่านมีหน้าที่รู้และเลือกหรือไม่เป็นที่น่าเสียดายที่สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดเช่นอาหารกลับเป็นสิ่งที่ห่างเหินกับผู้บริโภคมากที่สุด เพราะกระแสชีวิตเชี่ยวกรากที่หลีกเลี่ยงได้ยากตราบเท่าที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการสั่งสมความมั่งคั่งอย่างเสรี ผู้คนหลั่งไหลสู่เมืองด้วยความฝันว่าสามารถมีชีวิตที่ดีกว่าได้โดยไม่อาจรอรัฐสวัสดิการ ถูกหล่อหลอมให้อยู่อย่างปัจเจกมากขึ้น การรับประทานอาหารปรุงเองโดยพิถีพิถันพร้อมหน้ากับคนในครอบครัวกลายเป็นอภิสิทธิ์ การมีเวลาและกำลังทรัพย์มากพอเพื่อจะรู้ที่มาของอาหาร และมีสิทธิเข้าถึงอาหารที่ "สะอาด" กลายเป็นอภิสิทธิ์

 

เช่นเดียวกับที่อำนาจต่อรองในระบอบประชาธิปไตยควรอยู่ในมือประชาชน อธิปไตยทางอาหารควรอยู่ในมือผู้คุมอาหาร คือผู้บริโภคเฉกเช่นเดียวกัน สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้คือการเริ่มตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ในการบริโภคอย่างสะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน และยืนหยัดทำหน้าที่ปกป้องสิทธินั้นเพื่อตนเองและลูกหลานโดยการเรียกร้องให้ผู้ผลิตยึดถือในคุณค่าเดียวกัน

 

เช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่ผู้อ่านเลือกซื้อวัตถุดิบหรืออาหารปรุงสำเร็จ ทุกครั้งที่หยิบจับช้อน ส้อม มีด หรืออุปกรณ์ทำครัว ท่านอาจกำลังลงมือสู้กับความไม่เป็นธรรมและปกป้องประชาธิปไตยอยู่ก็เป็นได้

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw